UNDP รัฐบาลญี่ปุ่น กระทรวงมหาดไทย ผลักดันการสร้างวัฒนธรรมและนโยบายการพร้อมรับภัยพิบัติ

January 9, 2025
a group of people sitting at a zoo

 

พังงา 26 มกราคม พ.ศ. 2567 – โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และสหภาพยุโรป จัดงานรำลึกครบรอบ 20  ปีสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ในวันที่ 26-27 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ที่จังหวัดพังงา ประเทศไทย เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547 เหตุภัยพิบัติที่สูญเสียมากที่สุดครั้งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยงานรำลึกได้นำผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้เชี่ยวชาญ นักปฏิบัติการ และชุมชน มาหารือและส่งเสริมการเตรียมพร้อม ลดความเสี่ยง และรับมือกับภัยพิบัติใน 5 หัวข้อหลักคือ สาธารณสุขและเหตุฉุกเฉิน ระบบการเตือนภัยล่วงหน้า การวิจัยและนวัตกรรม การเตรียมพร้อมและรับมือกับภัยพิบัติอย่างครอบคลุม และเมืองที่สามารถตั้งรับกับภัยพิบัติ

กิจกรรมการรำลึกเหตุการณ์สึนามิ 20 ปียังรวมไปถึงการวิ่งและเดินร่วมกับทุกภาคส่วนและชุมชนกว่า 200 คนในบริเวณชุมชนบ้านน้ำเค็ม ในตำบลบ้านเมือง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ตามเส้นทางการรำลึกเหตุการณ์สึนามิ โดยกิจกรรมนี้ตั้งใจรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สึนามิปี พ.ศ. 2547 และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งในการรับมือมือกับภัยพิบัติ

โดยภายในกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์สึนามิ UNDP และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ในการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น ได้จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ โดยวงเสวนาได้นำชุมชน เยาวชน และนักปฏิบัติการจากหลายภาคส่วนมาหารือร่วมกันในหัวข้อฟังเสียงจากชุมชน: พลังความร่วมมือสู่การจัดการภัยพิบัติอย่างมีส่วนร่วม  ประกอบด้วย สรณัฐ ลือโสภณ ผู้อำนวยการส่วนสนับสนุนการมีส่วนร่วม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปุณฑริกา เกื้อสกุล เลขานุการสมาคมคนพิการภูเก็ต ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรณราย จรุงการ ผู้อำนวยการโรงเรียนเกาะไม้ไผ่ จังหวัดพังงา และตะวัน ทรายอ่อน (เยาวชน ทีมอาสาสมัครในหมู่บ้าน ปัจจุบันฝึกงานอยู่ปภ.จังหวัดพังงา)

UNDP ได้เริ่มทำโครงการโรงเรียนเข้มแข็งเพื่อการเตรียมความพร้อมรับมือสึนามิในเอเชียแปซิฟิกตั้งแต่ปีพ.ศ. 2560 โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ที่มุ่งเน้นการสร้างความปลอดภัยของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสภากาชาดไทย โดยโครงการนี้ได้พัฒนาแผนการอพยพสึนามิของโรงเรียนที่ได้ถูกนำไปทดลองและซ้อมในโรงเรียน 209 โรงตามแนวชายฝั่ง รวมถึงการซ้อมอพยพสึนามิกับนักเรียน 7,593 คน และเจ้าหน้าที่โรงเรียน 471 คน นอกจากนี้แผนการอพยพยังได้คำนึงการสื่อสารกับคนพิการทั้ง 7 ประเภทในเหตุฉุกเฉิน ซึ่งแผนอพยพสึนามิดังกล่าวได้พัฒนาเป็นคู่มือการอพยพสึนามิระดับชาติ ที่มีโรงเรียน 27,000 โรงนำไปปฏิบัติใช้ ในขณะที่ UNDP และรัฐบาลญี่ปุ่นได้สนับสนุนโรงเรียนมากกว่า 700 โรง ใน 24 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการซ้อมอพยพสึนามิและจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับภัยพิบัติกับนักเรียน ครู เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และชุมชน 218,800 คน

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงาเป็นหนึ่งในโรงเรียน 240 โรงที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนเข้มแข็ง UNDP กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสภากาชาดไทย โดยได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาแผนอพยพสึนามิระดับโรงเรียน ซ้อมอพยพสึนามิกับครูและนักเรียนทั้งหมด นอกจากนี้ครูปรัชญ์  สว่างพงศ์ ครูประจำโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 ยังได้รับการพัฒนาศักยภาพผ่านโครงการโรงเรียนเรียนเข้มแข็งฯ ให้เป็นผู้ฝึกซ้อม (Trainer) ครูในพื้นที่เสี่ยงสึนามิจังหวัดอื่น

โดยในวันที่ 26 ธ.ค. 2547 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงา ที่ตั้งอยู่ใกล้หาดบางสัก ถูกคลื่นยักษ์สึนามิซัดเสียหายทั้งหลัง เหลือเพียงแค่เสาธงชาติเพียงต้นเดียว ต่อมาได้มีการสร้างโรงเรียนขึ้นมาใหม่ โดยสร้างให้อาคารเรียนส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่สูงเหนือระดับคลื่นยักษ์ในครั้งนั้น ซึ่งโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงาเป็นโรงเรียนประจำด้วย มีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่พักที่โรงเรียน ดังนั้นจึงมีการออกแบบให้หอพักอยู่ในจุดที่ตั้งสูงที่สุดของโรงเรียน และจุดรวมพลอยู่ใกล้กับบริเวณหอพัก  ตามแนวทางการสร้างคืนใหม่ให้ดีกว่าเดิม หรือ Buildt Back Better ขององค์การสหประชาชาติ

เหตุการณ์สึนามิในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 230,000 ราย ใน 14 ประเทศ โดยมีผู้เสียชีวิต5,395 รายในประเทศไทย การสูญเสียจากเหตุการณ์นี้ยังนับเป็นหนึ่งในเหตุภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยปัจจุบันมีผู้คนทั่วโลก 700 ล้านคนที่เสี่ยงกับสึนามิ
 

 

โอตากะ มาซาโตะ  เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า

“ญี่ปุ่นเองก็เคยประสบกับเหตุการณ์สึนามิในปี 2011 ซึ่งในสถานการณ์นั้น มีโรงเรียนแห่งหนึ่งที่สามารถอพยพนักเรียนทั้งหมดได้สำเร็จ เราเรียกเหตุการณ์นี้ว่า ‘ปาฏิหาริย์แห่งคามาอิชิ’ ความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะพวกเขาปฏิบัติตามคำแนะนำ แต่เป็นเพราะพวกเขาสามารถปรับตัวและลงมือทำได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์จริง โดยอาศัยความตระหนักรู้ในวิธีการตอบสนองทันทีหลังเกิดแผ่นดินไหว นักเรียนแต่ละคนจึงมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจอพยพไปยังพื้นที่สูงและปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วยตัวเอง เราเชื่อว่านี่คือบทเรียนสำคัญที่เราสามารถแบ่งปันให้กับประเทศไทยได้ และเป็นสิ่งที่เราได้ร่วมดำเนินการกับ UNDP ตลอดหลายปีที่ผ่านมา

เรามุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียน เพราะโรงเรียนเป็นสถานที่ที่เยาวชนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่มากที่สุด ซึ่งต้องการคำแนะนำในสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ โรงเรียนยังเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาชุมชน และเราจะไม่สามารถที่จะสูญเสียคนรุ่นใหม่ไปกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงได้อีก”

a group of people posing for the camera

โอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และนีฟ คอลิเออร์-สมิธ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย

 

นีฟ คอลิเออร์-สมิธ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า

“หลังเหตุการณ์สึนามิ โลกได้แสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ผ่านการตอบสนองอย่างรวดเร็วเพื่อสนับสนุนประเทศที่ได้รับผลกระทบ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 13.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประมาณร้อยละ 40 มาจากการบริจาคของบุคคล ทรัสต์ และภาคเอกชน นับเป็นการตอบสนองที่รวดเร็วที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการบรรเทาภัยพิบัติ จากการสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่น UNDP ผ่านสำนักงานประเทศใน 5 ประเทศที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย ศรีลังกา มัลดีฟส์ และอินเดีย ได้ตอบสนองอย่างทันท่วงทีต่อความต้องการเร่งด่วนของรัฐบาลและชุมชนในการช่วยชีวิตและลดความสูญเสียและความเสียหาย UNDP ไม่เพียงมุ่งมั่นสนับสนุนการฟื้นฟูเร่งด่วนเท่านั้น แต่ยังสร้างรากฐานสำหรับความเข้มแข็งในการรับมือภัยพิบัติในระยะยาวอีกด้วย

UNDP ทำงานผ่านโครงการระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความตระหนักรู้ของชุมชนผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การซ้อมอพยพสึนามิ การปรับปรุงแผนฉุกเฉินของโรงเรียน และการบูรณาการแผนเหล่านี้เข้ากับกรอบการจัดการภัยพิบัติระดับชาติ ขณะนี้ เรากำลังขยายความพยายามของเราโดยสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ บูรณาการการเตรียมพร้อมรับมือสึนามิเข้ากับนโยบายระดับชาติและหลักสูตรโรงเรียน เพื่อให้มั่นใจว่าโรงเรียนและชุมชนทั้งหมดมีศักยภาพในการลดความเสี่ยงและเพิ่มความปลอดภัยในกรณีที่เกิดเหตุการณ์สึนามิ”

a group of people standing in front of a table

 

ข้อมูลติดต่อสำหรับสื่อ: 

Karnklon Raktham, Head of Communications, UNDP in Thailand | karnklon.raktham@undp.org  

Aticha Chaivichian, Partnership and Engagement Analyst, UNDP in Thailand | aticha.chaivichian@undp.org

****

เกี่ยวกับ UNDP: UNDP คือองค์กรชั้นนำของสหประชาชาติซึ่งต่อสู้เพื่อยุติความอยุติธรรมจากความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ UNDP ทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและพันธมิตรที่ครอบคลุมใน 170 ประเทศ ช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ให้สามารถสร้างทางแก้ปัญหาแบบบูรณาการและยั่งยืนเพื่อมนุษย์และโลก อ่านเพิ่มเติมได้ที่ undp.org หรือติดตามเราได้ที่ @UNDP