เมื่อโลกร้อนใครๆ ก็รู้ แต่ประเทศไทยทำอะไรอยู่เพื่อแก้ไขปัญหา? ชวนจับตาดูแผนงานระดับชาติ!

May 16, 2024

เพราะปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไม่สามารถแก้ได้ด้วยประชาชนเพียงลำพัง แต่การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยนโยบายระดับชาติ ประเทศไทยจึงได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี พ.ศ. 2593 ไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีการปรับเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกไว้ว่า ในปีพ.ศ. 2573 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% จากกรณีปกติ 

เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังดำเนินการตามแผนการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ได้แก่ แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี พ.ศ. 2558-2593 คือ แผนลดโลกร้อนระยะยาวระดับชาติ และแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยปี พ.ศ. 2564-2573 คือ แผนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

 

แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558-2593 ประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงานใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 

1.การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมายถึง การวางแผนและพัฒนาระบบเพื่อรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบจากโลกร้อน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อลดความเปราะบางของชุมชนต่อผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การจัดทำแผนการจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั่วประเทศที่ครอบคลุมการจัดการพื้นที่วิกฤติ และพื้นที่เร่งด่วนที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เป็นต้น

2.การลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน การสร้างแรงจูงใจให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนไปใช้ยานพาหนะประหยัดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นรถไฮบริด  รถอีโคคาร์ รถดีเซลประสิทธิภาพสูง รถยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 

3. การสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หมายถึง การพัฒนาข้อมูล งานวิจัย และเทคโนโลยี รวมถึงการสร้างความรู้ให้กับทุกภาคส่วนรวมถึงประชาชน เช่น การพัฒนากลไกสนับสนุนการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการเจรจาและความร่วมมือในเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงกำหนดหมวดงบประมาณการบริหารจัดการปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มไว้ในเอกสารงบประมาณแผ่นดิน เพื่อกระตุ้นให้เกิดโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

 

แผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยปี พ.ศ. 2564 – 2573 

นำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นกรอบการดำเนินงานสู่เป้าหมายการลดการลดก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี พ.ศ. 2573  โดยแผนการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบ่งตามภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ได้แก่ ภาคพลังงาน ภาคขนส่ง ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และภาคของเสีย

 

แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 สาขาพลังงาน 

มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาดจากโรงไฟฟ้าใหม่ โดยมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% และมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็น 30% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี พ.ศ. 2579 เป็นต้น  พลังงานขั้นสุดท้าย หมายถึง พลังงานที่เกิดจากการนำพลังงานขั้นต้นมาแปรรูป ปรับปรุงคุณภาพให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย หรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น พลังงานปิโตรเลียม และพลังงานไฟฟ้า

 

แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 สาขาคมนาคมขนส่ง 

ส่งเสริมให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทาง หรือลดระยะทางการเดินทางที่ไม่จำเป็น เช่น การพัฒนาพื้นที่ใช้สอยในลักษณะของพื้นที่ขนาดเล็กที่ใช้งานได้ครบ การส่งเสริมมาตรการการทำงานอยู่บ้าน สร้างศูนย์ราชการหรือศูนย์การค้าในพื้นที่ เป็นต้น 

 

แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้พลังงาน รวมถึงน้ำเสียอุตสาหกรรม 

มีการสนับสนุนมาตรการทดแทนปูนเม็ด และมาตรการการจัดการน้ำเสียอุตสาหกรรมโดยการเพิ่มการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียอุตสาหกรรมผ่านการนำก๊าซมีเทนกลับมาใช้ประโยชน์ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 เป็นต้น

 

แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564-2573 สาขาการจัดการของเสียชุมชน 

มีการสนับสนุนการลดปริมาณขยะมูลฝอยก่อนเข้าสถานที่กำจัดขยะ และวิธีการกำจัดขยะมูลฝอยที่ช่วยลดปริมาณการเกิดก๊าซเรือนกระจก เช่น การเผาขยะในเตาเผาเพื่อผลิตไฟฟ้า การนำขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ยหมัก และการนำขยะอินทรีย์ไปบำบัดเชิงกลชีวภาพ และมาตรการจัดการน้ำเสียชุมชน เช่น เพิ่มการรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่ระบบและเพิ่มจำนวนระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน เป็นต้น

 

แผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี พ.ศ. 2566-2570 

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณ 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าด้วยการจัดการมูลสัตว์และปลูกพืชแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เป็นต้น 

 

ความท้าทายของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจก

ผลจากการดำเนินการในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยได้ดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในระยะแรกได้สำเร็จโดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่น้อยกว่า 14% และลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและขนส่งได้ถึง 15.40% ในปี พ.ศ. 2563  แต่เมื่อมองในภาพรวมเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาว ประเทศไทยยังคงเผชิญความท้าทายในการดำเนินการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในแต่ละภาคส่วน เช่น 

 

  • ภาคเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร
    • เกษตรกรไทยขาดทุนและงบประมาณที่จำเป็นต่อการดำเนินการในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
    • เกษตรกรไทยไม่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ และไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เกิดการปรับตัวดังกล่าวได้
  • ภาคท่องเที่ยว 
    • นักท่องเที่ยวและธุรกิจท่องเที่ยวยังขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคการท่องเที่ยวและวิธีการปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว 
    • ขาดการกระจายข้อมูลและการสื่อสารที่เพียงพอเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับนักท่องเที่ยวภายในประเทศ และระดับนานาชาติ รวมถึงธุรกิจการท่องเที่ยว   
    • ธุรกิจท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าถึงเงินทุนเพื่อดำเนินกิจกรรมในการปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทานและยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ 
  • ภาคสาธารณสุข 
    • สังคมไทยยังขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสาธารณสุข 
    • งานวิจัยยังเกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศยังมีจำนวนจำกัด 
    • ขาดฐานข้อมูลส่วนกลางเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพของมนุษย์ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
  • ภาคการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อม 
    • งานวิจัยและความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อระบบนิเวศยังมีจำนวนจำกัดทั้งระบบนิเวศบนบก ระบบนิเวศทางทะเล และระบบนิเวศชายฝั่ง  
    • หน่วยงานภาครัฐระดับท้องถิ่นขาดงบประมาณ เจ้าหน้าที่ และความรู้ในการดำเนินการมาตรการปรับตัวเพื่อปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติและระบบนิเวศจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ภาคการตั้งถิ่นฐานและความปลอดภัยของมนุษย์ 
    • การขาดข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบย่อส่วนในระดับชุมชนที่สามารถนำไปใช้เพื่อวางแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง

ช่องว่างเหล่านี้ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนระดับชาติซึ่งจะสามารถช่วยเติมเต็มช่องว่างต่างๆ ผ่านมาตรการที่เป็นรูปธรรม และที่สำคัญก็คือ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยความพยายามของคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด แต่ต้องอาศัยนโยบายและการขับเคลื่อนระดับประเทศ และการเจรจาระดับโลก นอกจากแผนการปรับตัวในระดับชาติที่กล่าวมาประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างไรในเวทีโลก?