รายงาน NC4 เผยสถิติ เมื่อโลกร้อนและรวน อากาศแปรปรวนกระทบทุกภาคส่วนของประเทศไทย

April 18, 2024

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “โลกร้อน” นั้น ในความเป็นจริงไม่ได้มีเพียงอากาศที่ร้อนขึ้นเท่านั้น แต่ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงจากหลากหลายมิติแบบที่เราแทบจะคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นความร้อนเพิ่มสูงขึ้น น้ำท่วมรุนแรงจากฝนตกมากขึ้นทุกปี และภัยแล้งที่จะทวีความรุนแรงขึ้น ภัยทั้งหมดที่กล่าวมากระทบทุกภาคส่วนทั้งในระดับประเทศ และท้องถิ่น เช่น ภาคการท่องเที่ยวเสี่ยงสูญเสียสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ภาคสาธารณสุขเสี่ยงต่อการอุบัติใหม่ของโรคติดต่อที่เคยถูกกำจัดไปก่อนหน้านี้ และไม่กี่ปีที่ผ่านมาภาคทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเผชิญความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 6,000 ล้านบาทจากพื้นที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะ

คนไทย 1 ใน 5 คนจะได้รับผลกระทบรุนแรงสวนทางกับรายได้ 

ภาคเกษตรกรรมเป็นภาคส่วนที่ควรได้รับความสนใจอย่างยิ่ง เพราะความแปรปรวนทางสภาพอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรรม ปัจจุบันประชากรกว่า 12 ล้านคนในประเทศไทยทำงานในภาคเกษตรกรรม ทำให้เกษตรกรรมเป็นหนึ่งในแหล่งจ้างงานหลักของประเทศไทย ข้อมูลจากปี พ.ศ. 2563 บอกเราว่าพื้นที่ของประเทศไทยเกือบครึ่งใช้ทำเกษตรกรรม (46.54%) และพื้นที่ทำเกษตรกรรมเกือบครึ่งหนึ่ง (46.04%) เป็นพื้นที่ทำนา เมื่อสภาพอากาศแปรปรวน เช่น อุณหภูมิสูงขึ้น และปริมาณน้ำฝนผันผวน ชีวิตของเกษตรกรจึงเผชิญความยากลำบากมากขึ้นจากความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวนาปีเผชิญน้ำท่วมจากฝนตกนอกฤดูฝน ในขณะที่ข้าวนาปรังเผชิญความร้อนจากอุณหภูมิเมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต หรือในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ความร้อนที่เพิ่มขึ้นก็ทำให้ปลา ปู และอาหารทะเลมีเปลือกตาย ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ การเติบโต และการเพาะพันธุ์เพราะความร้อนเพิ่มขึ้นส่งผลให้หมูเจริญพันธุ์น้อยลง ไก่เสี่ยงต่อการติดโรค หรือแม้แต่ลูกวัวก็ตายจากอากาศที่ร้อนขึ้นได้เช่นกัน 

ร้อน แล้ง ท่วม ซ้ำเติมปัญหาเกษตรกรไม่เหลือกินเหลือใช้

แม้ประเทศไทยจะมีผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรนับล้านคน แต่ภาคเกษตรกรรมยังสร้างรายได้ได้น้อยเมื่อเทียบสัดส่วนกับภาคส่วนอื่น ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า GDP ภาคเกษตรกรรมคิดเป็น  9% ของ GDP รวมประเทศเท่านั้น และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าในปี พ.ศ. 2565 อาชีพเกษตรกรมีรายได้ต่อครัวเรือนเกษตรอยู่ที่ 80,271 บาทต่อปี เฉลี่ยประมาณ 6,689 บาทต่อเดือนเท่านั้น 

 

จากข้อมูลบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยปี พ.ศ. 2561 ภาคเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 15.69% จากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในประเทศไทย แต่กลับเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและปรับตัวได้ยาก เนื่องจากการทำเกษตรกรรมขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมองในระดับท้องถิ่นจากแผนที่ความเสี่ยงของประเทศไทย* ที่ประเมินความเสี่ยงต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภัยธรรมชาติ 3 รูปแบบ ได้แก่ ความร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วม ในภาคเกษตรและภาคความมั่นคงทางอาหาร ความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในเชิงภูมิภาค เพราะจังหวัดที่ได้รับการจัดอันดับว่าเสี่ยงภัยความร้อนสูงสุด 7 จังหวัดล้วนอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งสิ้น ได้แก่  1. นครราชสีมา 2. อุบลราชธานี  3. บุรีรัมย์ 4. ขอนแก่น 5. ศรีสะเกษ 6. สุรินทร์ และ ร้อยเอ็ด โดยจังหวัดนครราชสีมาเสี่ยงเป็นอันดับที่ 1 ทั้งภัยร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วม 

*ภัยธรรมชาติทั้ง 3 รูปแบบถูกมาวิเคราะห์ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงในแต่ละภาคส่วนและประเมินสถานการณ์ตามกรอบเวลาดังต่อไปนี้ พ.ศ. 2513-2548 2559-2578 2589-2608 และ 2624-2642

 

โลกร้อนกระทบภาคส่วนใดอีก นอกจากภาคเกษตรกรรม?

ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อประชากรไทยทุกคนทั้งด้านสุขภาพ การเข้าถึงสาธารณูปโภค และที่อยู่อาศัย โดยแผนที่ความเสี่ยงยังนำเสนอความเสี่ยงในอีก 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคการจัดการทรัพยากรน้ำ ภาคการท่องเที่ยว ภาคสาธารณสุข ภาคทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคการตั้งถิ่นฐานและความปลอดภัยของมนุษย์ 

 

ภาคการจัดการทรัพยากรน้ำ 

ความเสี่ยงด้านน้ำไม่ใช่เพียงการขาดปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ แต่การขาดแคลนน้ำยังก่อให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ คุณภาพน้ำปนเปื้อนที่สูงขึ้น รวมถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตล้มเหลว ในประเทศไทย จังหวัดนครราชสีมามีความเสี่ยงสูงกว่าภาคอื่น ๆ โดยจังหวัดที่มีความเสี่ยงโดยรวมสูงที่สุดรองลงมา ได้แก่ กรุงเทพมหานคร อุบลราชธานี ขอนแก่น และนครสวรรค์

 

ภาคทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

นอกจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ประเทศไทยยังเผชิญปัญหากัดเซาะชายฝั่ง 1-5 เมตรต่อปีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวกว่า 20 ล้านคนจังหวัดที่มีประชากรเสี่ยงเป็นจำนวนสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ และอุบลราชธานี 

 

ภาคการท่องเที่ยว 

มีความสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยโดยสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ในประเทศสูงถึง 20-22% สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงส่งผลให้สูญเสียพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ โดยจังหวัดที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวสูงสุดในประเทศไทยทั้งกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และภูเก็ตล้วนจัดเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง ส่วนจังหวัดที่เสี่ยงสูงสุด ได้แก่ ตราด สุราษฎร์ธานี และนครราชสีมา 

 

ภาคการตั้งถิ่นฐานและความปลอดภัยของมนุษย์ 

ในปี พ.ศ. 2583 74.3% ของประชากรไทยจะอาศัยอยู่ในเมือง และจะเหลือประชากรเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเสี่ยงส่งผลให้ระบบประปาหยุดชะงัก กระทบที่อยู่อาศัย และบริการสาธารณะซึ่งจะส่งผลต่อคนในเมืองนับล้านคน โดยจังหวัดที่เสี่ยงสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร  นครราชสีมา สมุทรปราการ และขอนแก่น นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีคนอยู่อาศัยมากที่สุดในประเทศไทยถึง 5.4 ล้านคน ยังเป็นจังหวัดที่เสี่ยงสูดสุดทั้งภัยความร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วม 

 

ภาคสาธารณสุข 

ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอาจก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ภาวะทุพโภชนาการ และการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถส่งผลให้โรคติดต่อที่เคยถูกกำจัดจนหมดสิ้นไปแล้วหรือสามารถควบคุมได้แล้วก่อนนี้อุบัติขึ้นมาใหม่ โดยจังหวัดที่เผชิญความเสี่ยงโดยรวมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น และบุรีรัมย์

 

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน แต่การเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยการร่วมมือกันในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก ในอนาคตที่ไทยเสี่ยงภัยในแทบทุกภาคส่วน ปัจจุบันประเทศไทยทำอะไรเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศแล้วหรือยัง? ทำความรู้จักกับแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย

ดาวน์โหลดรายงานที่นี่