
กรุงเทพมหานคร 7 มีนาคม 2568 - เนื่องในวันสตรีสากลประจำวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย (Thai Women Parliamentarian Caucus), มูลนิธิเวสต์มินสเตอร์เพื่อประชาธิปไตย (WFD), สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ Mirror Thailand เฉลิมฉลองความก้าวหน้าของบทบาทผู้หญิงในการเป็นผู้นำในอาชีพทางการเมืองและอาชีพต่าง ๆ ภายในงาน International Women’s Day Film Talk 2025: Breaking Barriers, Redefining Norms ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิล์ด ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
งานนี้ได้ฉายภาพยนตร์สารคดี RBG ซึ่งเป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวประวัติของรูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก (Ruth Bader Ginsburg) อดีตผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐฯ โดยภาพยนตร์นำเสนอเส้นทางชีวิตของเธอจากการเป็นนักศึกษากฎหมายที่เผชิญการเลือกปฏิบัติทางเพศ สู่การเป็นนักกฎหมายที่ต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมของผู้หญิง จนก้าวขึ้นเป็นผู้พิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐฯ
จากเนื้อหาของภาพยนตร์ งานนี้ยังได้เป็นพื้นที่ของทุกภาคส่วนในการทบทวนอคติทางเพศที่ฝังลึกในวัฒนธรรมและความเชื่อ ที่ยังรั้งผู้หญิงจากการเติบโตในเส้นทางอาชีพและการขึ้นเป็นผู้นำในบทบาทต่าง ๆ อีกทั้ง WFD และ UNDP ได้นำเสนอมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการส่งเสริมบทบาทการเป็นผู้นำของผู้หญิงในการเมือง เช่น นโยบายต่อต้านการคุกคาม การจัดการเงินทุนในการหาเสียงอย่างเป็นธรรม กลไกร้องเรียนอิสระ การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ และการเข้าถึงบริการดูแลเด็กที่สะดวก โดยมาตรการเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย พรรคการเมือง ภาคประชาสังคม และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

คุณวิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย
คุณวิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทยกล่าวว่า “ปีนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของ รัฐสภาไทย และชมรมรัฐสภาสตรีไทย ที่ได้ขับเคลื่อนเรื่อง ความเท่าเทียมทางเพศ และการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการเมือง อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างพื้นที่ให้ เสียงของผู้หญิงดังขึ้นและทรงพลังยิ่งขึ้น ในทุกเวทีของสังคม”

คุณเกศชฏา พรหมจรรย์ ผู้อํานวยการสํานักงานประจําประเทศไทย Westminster Foundation for Democracy (WFD)
คุณเกศชฏา พรหมจรรย์ ผู้อํานวยการสํานักงานประจําประเทศไทย Westminster Foundation for Democracy (WFD) เน้นย้ำว่าทุกเพศสามารถมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ “คนทุกเพศสามารถร่วมกันส่งเสริมและผลักดันให้การมีส่วนร่วมของผู้หญิงและผู้นำหญิงเกิดขึ้นได้ในทุกระดับ”

คุณสุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)
คุณสุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) พูดถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “โรงภาพยนตร์ในเครือเอส เอฟ ภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างนิยามความเท่าเทียมในวันสตรีสากลผ่าน International Women’s Day Film Talk 2025 ปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้เปิดกว้างและส่งเสริมบทบาทของทุกเพศอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็น นักแสดง ผู้เขียนบท ทีมงาน หรือผู้กำกับ ซึ่งต่างมีบทบาทสำคัญทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ขณะเดียวกันภาพยนตร์หลากหลายเรื่องก็ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง สะท้อนความสำคัญของผู้หญิงและความเท่าเทียมในสังคมด้วยค่ะ”

คุณนีฟ คอลิเออร์-สมิธ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย
คุณนีฟ คอลิเออร์-สมิธ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยกล่าวว่า “เนื่องในวันสตรีสากล ดิฉันขอแสดงความยินดีกับประเทศไทยและผู้หญิงทุกคนสำหรับทุก ๆ ก้าวแห่งความสำเร็จในเส้นทางการต่อสู้เพื่อสิทธิของเด็กผู้หญิงและผู้หญิงที่ยาวนาน ที่นำมาสู่การมีส่วนร่วมและการเป็นผู้นำของผู้หญิงในบทบาทที่สำคัญ ๆ ของประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่องวางทางดิจิทัล และความเหลื่อมล้ำฝังลึกกำลังซ้ำเติมความไม่เท่าเทียมทางเพศ ดังนั้น UNDP รัฐสภาไทย และพันธมิตรจึงทำงานเพื่อเสริมสร้างการเป็นผู้นำของผู้หญิง โดยเฉพาะในบทบาททางการเมือง เพื่อให้ผู้หญิงได้เป็นตัวแทนและได้ส่งเสียงในกระบวนการออกกฎหมายและนโยบายที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ดร. ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ขณะที่ ดร. ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีผู้หญิงเป็นตัวแทนในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะการมีตัวแทนผู้หญิงในการเมือง ผ่านปาฐกฐาในหัวข้อ ‘พลังของการมีตัวแทนผู้หญิง เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงว่า’ “บทบาทของผู้หญิงในยุคของการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพียงการสร้างรายได้ แต่คือการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียม”
นอกจากนี้งาน International Women’s Day Fim Talk 2025 ยังมีกิจกรรมล้อมวงคุยเรื่องสิทธิผู้หญิงควบคู่กับการดูภาพยนตร์ ที่มีทั้งผู้หญิง ผู้หญิงข้ามเพศ และผู้ชายมาร่วมพูดคุยในประเด็น ‘ทลายอคติทางเพศ สร้างนิยามความเท่าเทียม’ ประกอบด้วยดร.ประทุม วงศ์สวัสดิ์ กรรมการบริหารชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย ศ. ดร. ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณสุภอร รัตนมงคลมาศ Vice President, South Asia, Universal Pictures คุณณชเล บุญญาภิสมภาร รองประธานมูลนิธิเอเชียแปซิฟิกทรานส์เจนเดอร์เน็ตเวิร์ก คุณสถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา หัวหน้าฝ่ายสื่อสารและดูแลภาพลักษณ์องค์กร สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และคุณอรัณย์ หนองพล นักจัดรายการพอดแคสต์ ที่มาร่วมสะท้อนอคติทางเพศต่อผู้หญิง ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการขึ้นเป็นผู้นำ รวมถึงความสำคัญของการมีตัวแทนผู้หญิงในบทบาทสำคัญต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องของสัดส่วนและจำนวน แต่คือการมีเสียงสะท้อนที่หลากหลายในการรับมือกับปัญหาทุกมิติ ทั้งสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายที่ปราศจากการเหมารวม และคำนึงถึงผลกระทบต่อเพศและอัตลักษณ์ต่าง ๆ ที่แตกต่างกันในสังคม
แม้ว่าประเทศไทยจะเห็นผู้หญิงขึ้นมาเป็นผู้นำมากขึ้นในบทบาทต่าง ๆ อคติทางเพศยังรั้งผู้หญิงในการเข้าไปมีบทบาทในหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจที่สำคัญของประเทศ ซึ่งสะท้อนผ่านข้อมูลของ IPU’s Global Data on National Parliaments ปี 2025 ที่ชี้ให้เห็นว่ามีเพียงร้อยละ 27.2 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในทั่วโลกที่เป็นผู้หญิง ซึ่งสัดส่วนของผู้หญิงในรัฐสภาของประเทศอาเซียนยิ่งต่ำกว่า คือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศอาเซียนมีสมาชิกผู้หญิงอยู่ที่ร้อยละ 23 โดยสภาผู้แทนราษฎรของไทยมีผู้หญิงเพียงร้อยละ 19.40 รั้งอยู่ที่อันดับ 127 จาก 168 ประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับการเป็นผู้นำทางการเมืองระดับท้องถิ่น ที่มีผู้หญิงเพียงร้อยละ 13.9 ที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งในองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และมีเพียง 17.11 ที่ดำรงตำแหน่งนายกอบจ.
ตัวเลขสัดส่วนผู้หญิงในรัฐสภาฉายภาพอคติทางเพศที่ฝังลึกในสังคม รายงาน Gender Social Norms Index ปี 2023 ของ UNDP ที่ทำการสำรวจประชากรโลกร้อยละ 85 พบว่า เกือบ 9 ใน 10 ของผู้ชายและผู้หญิงมีอคติฝังลึกต่อผู้หญิง โดยในมิติที่เกี่ยวข้องกับการเมือง พบว่า ประชากรโลกเกือบครึ่งหรือร้อยละ 49 เชื่อว่าผู้ชายสามารถเป็นผู้นำทางการเมืองได้ดีกว่าผู้หญิง นอกจากนี้ผู้หญิงยังมักถูกตัดสินรุนแรงกว่าในบทบาทเดียวกันกับผู้ชาย
UNDP ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย (Thai Women Parliamentarian Caucus), มูลนิธิเวสต์มินสเตอร์เพื่อประชาธิปไตย (WFD), สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย และภาคีเครือข่าย จึงทำงานขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มสัดส่วนและบทบาทของผู้หญิงในตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่าจะผ่านการส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น ผ่านการดำเนินงานในคณะกรรมาธิการของรัฐสภา ชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย รวมถึงการสร้างความตระหนักร่วมกับรัฐสภาไทยถึงนโยบายและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ครอบคลุมและเคารพสิทธิของผู้หญิง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 5 หรือความเท่าเทียมทางเพศ ที่สังคมยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ และสร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และมีโอกาสเท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจทางการเมือง เศรษฐกิจ และภาคสาธารณะ
อ่านรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Gender Social Norms Index ได้จากลิงค์นี้
###
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
ฝ่ายเลขานุการชมรมสมาชิกรัฐสภาสตรีไทย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
โทร. 02242 5900 ต่อ 5244
ชมพูนุท เฉลียวบุญ, ผู้จัดการโครงการภูมิภาค, WFD
กันทิมา สิงหนุ, Head of Academic Department, SDID TU
กานท์กลอน รักธรรม, Head of Communications, UNDP Thailand
วฤนดา วิชชุลตา, Social & PR Manager, SF Corporation Public Company Limited