
ตัวแทนจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย สหภาพยุโรป กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิง (UN Women) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมบันทึกภาพหมู่ในจัดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 5) ในระดับพื้นที่
วันที่ 27 มีนาคม 2568 – กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยความร่วมมือกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิง (UN Women) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้จัดการประชุมเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG 5) ในระดับพื้นที่ โดยมุ่งหวังเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและจัดทำฐานข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือในประเทศไทย การประชุมนี้จัดขึ้นที่หอประชุมชั้น 2 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวมกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน เช่น กระทรวงพัฒนาสังคม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความร่วมมือในการดำเนินงานเพื่อความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับนิยามของ SDG 5 ที่เน้นการพัฒนาศักยภาพของสตรีและเด็กหญิง
คุณอนุกูล ปีกแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
“ทั้งนี้ การประชุมเชิงปฏิบัติการนี้จัดขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ได้แก่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความร่วมมือในการดำเนินการขับเคลื่อนความท่าเทียมทางเพศ การทำงานร่วมกันเป็นสิ่งจำเป็นโดยต้องสร้างระบบข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ เพื่อให้มาตรการต่างๆ สอดคล้องกับบริบทและรูปธรรมระดับจังหวัดและประเทศ” นายอนุกูล ปีกแก้ว ปลัดกระทรวงพม.กล่าว

นายมานะ สิมมา ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย
“เป้าหมายที่ 5 นั้น ทางกระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนโครงการกองทุน พัฒนาบทบาทสตรี ซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนสำหรับสตรีในการสร้างงาน สร้างรายได้ ส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและบทบาทสตรีให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งให้สตรี ได้มีโอกาสแสดงออกถึงบทบาทในการเป็นผู้นําการพัฒนาในระดับชุมชน” นายมานะ สิมมา ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าว

ดร. จูลิตตา โอนาบันโจ ผู้อำนวยการ UNFPA ประจำประเทศไทยและผู้แทน UNFPA ประจำประเทศ
“UNFPA ประจำประเทศไทย เชื่อว่าความร่วมมือนี้จะต้องเป็นแรงกระตุ้นสำคัญในการพัฒนาและก้าวเข้าสู่สังคมที่มีความครอบคลุมและเท่าเทียม ทุกคนในสังคมสามารถพัฒนาศักยภาพของตนได้ จะไม่เพียงแค่ตอบสนองความต้องการในแต่ละจังหวัด แต่ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างยั่งยืนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น” ดร. จูลิตตา โอนาบันโจ ผู้อำนวยการ UNFPA ประจำประเทศไทยและผู้แทน UNFPA ประจำประเทศมาเลเซียเน้นย้ำ

อิริน่า กอร์ยูโนวา รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย
“การพัฒนารายงานความก้าวหน้าของการบรรลุเป้าหมายพัฒนาที่ยั่งยืนระดับจังหวัด (SDG Profile) ที่ UNDP พัฒนาร่วมกับกระทรวงมหาดไทยโดยได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ชี้ให้เห็นว่าเรายังสามารถพัฒนาการจัดเก็บและบูรณาการข้อมูล
แบบจำแนกเพศ (sex-disaggregated data) และข้อมูลแบบจำแนกเพศภาวะ (gender-disaggregated data) ในระดับจังหวัด ซึ่งในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 5 หรือความเท่าเทียมทางเพศ UNDP เสนอให้การทำนโยบายของประเทศไทยอยู่บนฐานข้อมูลที่สะท้อนความต้องการที่หลากหลายของคนแต่ละกลุ่ม” อิริน่า กอร์ยูโนวา รองผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทยกล่าวภายในการประชุมเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 5 หรือความเท่าเทียมทางเพศ (SDG 5: Gender Equality) “UNDP จึงรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย UNFPA และ UN Women ในการส่งเสริมการเก็บข้อมูลที่แยกเพศที่เป็นมาตรฐานในระดับจังหวัด”

มาเรีย โฮลเบิร์ค รองผู้อำนวยการ UN Women สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
“ความเสมอภาคระหว่างเพศเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน สำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาของประเทศไทย เพิ่มพูนความยุติธรรมในสังคมและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมสร้างพลังสตรีควรถูกพิจารณามิใช่แค่เป็นเป้าหมายที่ 5 ของ SDG แต่ควรมองว่าเป็นสิ่งที่ต้องบูรณาการเข้ากับ SDG อื่นๆ เพราะการบรรลุเป้าหมายที่หมายถึงการแก้ปัญหาที่รากฐาน ขจัดอุปสรรคเชิงโครงสร้างและเป็นการทำให้แน่ใจว่านโยบายของประเทศไทยนั้นสนองตอบต่อความเป็นจริงอันหลากหลายของสตรีและเด็กหญิงและยกระดับเสียงของสตรีในกระบวยการตัดสินใจ” มาเรีย โฮลเบิร์ค รองผู้อำนวยการ UN Women สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกกล่าว
การประชุมนี้ยังมุ่งเน้นการบูรณาการข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยเสนอแนวทางการเก็บรวบรวมข้อมูลที่แยกตามเพศ การระบุช่องว่างของข้อมูล ตัวชี้วัด และการเก็บข้อมูลที่ได้มาตรฐาน เพื่อสนับสนุนการวางแผนและการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการขับเคลื่อน SDG 5 ในระดับพื้นที่ โดยเน้นที่การสร้างกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทุกกลุ่มประชาชน การยกระดับความรู้ในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเพื่อความเท่าเทียมทางเพศถือเป็นก้าวสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องมีบทบาทและความรับผิดชอบร่วมกัน
ทั้งนี้ จังหวัดนำร่องที่จะเริ่มโครงการนี้ได้แก่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดปัตตานี โดยพิจารณาจากการมีส่วนร่วมในการริเริ่มการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในระดับจังหวัดผ่านโครงการการเสริมสร้างความเข้มแข็งการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติในพื้นที่ (Strengthening SDG Localisation in Thailand) ของ UNDP ประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และความพร้อมของผู้ว่าราชการจังหวัดในการเป็นผู้นำความพยายามด้านความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะของแต่ละจังหวัด การมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการออกแบบมาตรการและนโยบายที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 ในระดับพื้นที่ฯ รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ได้ที่เพจสื่อโซเชียลของ UNDP Thailand
หากสื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ:
- UNFPA; สุชารัตน์ สถาพรอานนท์ (หญิง) ผู้ประสานงานด้านการมีส่วนร่วมสาธารณะ, sathaporn-anon@unfpa.org
- UN Women; มาเรีย โฮลเบิร์ค รองผู้อำนวยการ UN Women สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก maria.holtsberg@unwomen.org
- UNDP; สุภาณี พงษ์เรืองพันธุ์ (เจ) ที่ปรึกษาด้านความเท่าเทียมทางเพศและการมีส่วนร่วมทางสังคม
suparnee.pongruengphant@undp.org
- UNDP; กานท์กลอน รักธรรม หัวหน้าด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม, Karnklon.raktham@undp.org