UNDP) และสหภาพยุโรป (EU) ร่วมกันผลักดันเยาวชนและสื่อมวลชนเป็นนักสร้างการเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนเพื่อธุรกิจที่รับผิดชอบ

January 9, 2025
a group of people standing in front of a building

 

กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย – 9 ธันวาคม 2567 – โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสหภาพยุโรป (EU) ได้จัดการประชุมเชิงปรึกษาหารือในหัวข้อ "เสียงของการเปลี่ยนแปลง: บทบาทเยาวชนและสื่อในไทย ขับเคลื่อนเพื่อธุรกิจที่รับผิดชอบ" ณ สยามพารากอน เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชน สื่อมวลชน ภาคธุรกิจ และหน่วยงานภาครัฐแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สนับสนุน และส่งเสริมบทบาทอันสำคัญของเยาวชนและสื่อมวลชนในการผลักดันการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบและยั่งยืน

การประชุมครั้งนี้นับเป็นการแนะนำโครงการใหม่ "นักสร้างการเปลี่ยนแปลง : เยาวชนและสื่อเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ หรือ Agents of Change " ของ UNDP ซึ่งสหภาพยุโรปได้ให้การสนับสนุนเป็นจำนวนเงิน 3 ล้านยูโร โดยเป็นโครงการที่มุ่งนำศักยภาพของเยาวชนและสื่อมวลชนในการผลักดันให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นผลจากการดำเนินธุรกิจ โดยจุดประสงค์ของโครงการฯ สอดคล้องกับพันธกิจของประเทศไทยภายใต้หลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) และแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน อีกทั้งส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในฐานะสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในวาระสามปี ซึ่งการประชุมฯ ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน ทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ สะท้อนถึงความสำคัญของการร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกและเชิงระบบ

ตามรายงานของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เรื่อง "กฎหมายและมาตรการในการจัดการกับการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ (SLAPPs) ในบริบทของธุรกิจและสิทธิมนุษยชน" ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ภายใต้โครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษชนในภูมิภาคเอเชีย พบว่า ในประเทศไทย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงตกเป็นเป้าหมายการถูกละเมิดโดยภาคธุรกิจ นอกจากนี้ นักเคลื่อนไหวและผู้นำชุมชนซึ่งรวมถึงกลุ่มเยาวชนยังเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องในลักษณะ SLAPPs ข้อมูลนี้สะท้อนถึงความท้าทายสำคัญต่อการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนของเยาวชนและสื่อ

โครงการ นักสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือ Agents of Change จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเยาวชนและสื่อมวลชนเพื่อเป็นกระบอกเสียงและผลักดันให้องค์กรธุรกิจมีความรับผิดชอบ และสนับสนุนรัฐบาลในการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสร้างหลักประกันความปลอดภัยให้กับนักสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งสองกลุ่มนี้

 

นีฟ คอลิเออร์-สมิธ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเสริมสร้างพลังให้แก่เยาวชนและสื่อมวลชนในการเป็นแรงผลักดันให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ “เยาวชนเป็นทั้งกระบอกเสียง ผู้บริโภค และผู้ประกอบการในวันนี้และในอนาคต ขณะที่สื่อมวลชนถือเป็น 'ฐานันดรที่สี่' ของสังคมเรา บ่อยครั้งที่ทั้งสองกลุ่มนี้ยังไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในการมีบทสนทนากับผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจำกัดโอกาสของพวกเขาในการร่วมกำหนดแนวทางปฏิบัติของภาคธุรกิจที่ปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รวมถึงการลงทุนที่สร้างผลกระทบทางบวกแก่สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล สิทธิมนุษยชนถือเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาที่โลกของเรากำลังเผชิญในปัจจุบัน เมื่อสิทธิมนุษยชนได้รับการเคารพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็ได้รับการปกป้อง และจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โครงการ Agents of Change ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสหภาพยุโรป เป็นโครงการที่เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมและขยายเสียงของเยาวชนและสื่อมวลชน และนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โครงการนี้ไม่เพียงสนับสนุนวาระธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แต่ยังตอกย้ำความมุ่งมั่นของประเทศไทยต่อวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 8 (การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) เป้าหมายที่ 12 (การบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน) และเป้าหมายที่16 (สันติภาพ ความยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง)” คุณนีฟกล่าว

a group of people looking at each other

นีฟ คอลิเออร์-สมิธ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย และดวงดาว เกียรติพิศาลสกุล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

ลอร์ บราเชต์ หัวหน้าฝ่ายการเมือง สื่อ และข้อมูลข่าวสาร คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหภาพยุโรปในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในระดับสากล “สหภาพยุโรปมีความยินดีที่ได้สนับสนุนประเทศไทยในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและสอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” คุณลอร์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “สหภาพยุโรปได้พัฒนากำหนดทางกฎหมายด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ข้อบังคับว่าด้วยการตรวจสอบความยั่งยืนภาคธุรกิจ (CS3D) ของสหภาพยุโรปนับเป็นก้าวสำคัญล่าสุดในความพยายามร่วมกันที่จะพัฒนาพันธกรณีทางกฎหมายสำหรับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับสหภาพยุโรปในการดำเนินการตรวจสอบรอบด้านในประเด็นสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวะล้อม”

a man holding a gun

ลอร์ บราเชต์ หัวหน้าฝ่ายการเมือง สื่อ และข้อมูลข่าวสาร คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

ดวงดาว เกียรติพิศาลสกุล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวถึงความพยายามของประเทศไทยในการเสริมสร้างความรับผิดชอบของภาคธุรกิจและการสร้างวัฒนธรรมที่เคารพสิทธิมนุษยชน “ประเทศไทยเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน โดยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เราภูมิใจที่ได้ร่วมมือกับ UNDP สหภาพยุโรป และภาคีภาคประชาสังคมในการผลักดันวาระนี้” คุณดวงดาวยังกล่าวอีกว่า “การประชุมเชิงปรึกษาหารือในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและเสริมพลังให้เยาวชนและสื่อในฐานะผู้ขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบในประเทศไทย” 

a man wearing a suit and tie

ดวงดาว เกียรติพิศาลสกุล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

ไฮไลท์สำคัญจากการประชุมฯ:
•    การนำเสนอโครงการ Agents of Change: UNDP นำเสนอภาพรวมโครงการ Agents of Change พร้อมเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมประชุมฯ แสดงความคิดเห็น ข้อมูล และมุมมองต่อแนวทางการดำเนินงาน กิจกรรม และโอกาสความร่วมมือภายใต้กิจกรรมของโครงการ
•    การเสริมพลังให้เยาวชนและสื่อ: การอภิปรายได้เน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของเยาวชนและสื่อมวลชนในการส่งเสริมและผลักดันให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม และสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนไปควบคู่กัน
•    การเรียกร้องความร่วมมือจากหลายภาคส่วน: ผู้แทนจากองค์กรเยาวชน สื่อมวลชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐที่เข้าร่วม ได้ร่วมแบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับวิธีการทำงานร่วมกันเพื่อแสวงหาแนวทางการมีส่วนร่วมที่ครอบคลุม และสร้างผลกระทบเชิงบวกในการส่งเสริมความรับผิดชอบของภาคธุรกิจในประเทศไทย
โครงการ Agents of Change เป็นการสานต่อจาก “โครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษชนในภูมิภาคเอเชีย : การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนผ่านกรอบการปกป้อง การเคารพ และการเยียวยา” ซึ่ง UNDP ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป  
ก้าวต่อไป UNDP ยังคงเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อทำให้มั่นใจว่ากิจกรรมภายใต้โครงการ Agents of Change มีส่วนสำคัญต่อส่งเสริมวาระธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนโดยเยาวชนและสื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนวาระดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่ความก้าวหน้าของประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ ภายในปี ค.ศ. 2030
*******************************

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ธาริณี สุรวรนนท์ ผู้จัดการโครงการ UNDP ประเทศไทย | Tarinee.suravoranon@undp.org | เบอร์มือถือ: +66922700529