UNDP และ เจนเนอราลี่ร่วมเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ MSME ในประเทศไทย
November 27, 2024
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และเจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ ประกาศความร่วมมือต่อยอดจาก จากการเป็นพันธมิตรระดับโลก ในการสนับสนุนการเติบโตและความยั่งยืนของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ในประเทศไทย โดยมุ่งเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจ MSME ซึ่งมีความสำคัญต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยให้ธุรกิจเหล่านี้พร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต ความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วยการพัฒนา MSMEs Social Protection Framework ซึ่งเป็นเครื่องมือประเมินความเสี่ยงเพื่อสร้างความพร้อม เพิ่มความตระหนักรู้ พร้อมกลยุทธ์การรับมือกับความเสี่ยงแก่ผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังมุ่งลดช่องว่างด้านการคุ้มครองสำหรับผู้ประกอบการด้วยโซลูชันประกันภัยที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนให้กับธุรกิจ
ในปี 2567 UNDP และ เจนเนอราลี่ได้เปิดตัวรายงานวิจัยร่วมในหัวข้อ “Building MSME Resilience in Southeast Asia” ซึ่งทำการศึกษาตัวอย่างห่วงโซ่คุณค่าในประเทศไทยและมาเลเซีย รายงานฉบับนี้นำเสนอแนวทางซึ่งเป็นทางเลือกในการระบุความเสี่ยงรวมถึงความต้องการของธุรกิจ MSME การพัฒนาด้านการบริหารความเสี่ยงและบริการประกันภัย และการนำเสนอโซลูชันเหล่านี้ต่อชุมชนธุรกิจท้องถิ่น
การวิจัยพบว่า ธุรกิจ MSMEs นั้นมีจำนวนมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 99.6 ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทย และร้อยละ 97.4 ในประเทศมาเลเซีย โดยธุรกิจเหล่านี้มีบทบาทที่เป็นทั้งเสาหลักและแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยงานวิจัยยังเน้นย้ำถึงความสำคัญในการเข้าใจความแตกต่างในลักษณะของห่วงโซ่คุณค่า รูปแบบความเสี่ยง และความคุ้มครองที่จำเป็นสำหรับกลุ่ม MSMEs เพื่อช่วยการนำเสนอทางออกด้านประกันภัยที่เหมาะสม
ผลจากการวิจัยเหล่านี้จะถูกนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการบริหารความเสี่ยงและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ MSMEs ในท้องถิ่น โดยโครงการนี้ มีเป้าหมายหลักสองประการ ได้แก่ การสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับความสามารถในการรับมือปัญหารวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และการขยายความคุ้มครองแก่พนักงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ และสภาพภูมิอากาศ
นาง อิริน่า กอร์ยูโนวา (Irina Goryunova) รองผู้แทนประจำโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การเติบโตของ MSMEs ในไทยนั้นได้รับผลกระทบมากขึ้นจากความเสี่ยงต่อความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ และความท้าทายจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นถูกนำไปใช้ในการพื้นฟูวิกฤตแทนที่ใช้ในการลงทุน การประกันภัยเป็นหนึ่งในเครื่องมือจัดการความเสี่ยงที่สามารถช่วยให้กลุ่ม MSMEs ฟื้นตัวจากการปัญหาทางการเงิน แต่ตลาดประกันภัยอาจยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ในประเทศไทย ด้วยตัวผลิตภัณฑ์และช่องทางการจัดจำหน่ายที่ยังไม่สอดคล้องกับความต้องการหรือยังขาดแคลนอยู่ ประกอบกับการตระหนักรู้เรื่องการป้องกันความเสี่ยงที่ยังไม่มากนัก ด้วยการสร้างสรรค์โซลูชันด้านประกันภัยที่ตอบโจทย์ความเสี่ยงเฉพาะตัวของ MSMEs ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงอย่างรอบด้าน เพื่อให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถเติบโตและยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไปUNDP มีความภูมิใจที่ได้สานต่อความร่วมมือกับ Generali ในการช่วยให้ MSMEs ไทยเข้าใจและบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น
มร.โรแบร์โต้ ลีโอนาดี้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเจนเนอราลี่ภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า “ธุรกิจ MSMEs คือหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยและอีกหลายประเทศในเอเชีย การทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในการสร้างความแข็งแกร่งและพัฒนาโซลูชันเพื่อเอาชนะความท้าทายต่างๆ ที่ผู้ประกอบการเผชิญอยู่ในพื้นที่ คือเป้าหมายหลักในการทำงานร่วมกับ UNDP ของเรา ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของโครงการในมาเลเซียถือเป็นแรงบันดาลใจให้ผมในการสานต่อสิ่งดี ๆ เหล่านี้ให้กับชุมชน MSMEs ในประเทศไทย โดยการประกันภัยนั้น มีบทบาทสำคัญในการสร้างเสริมความสามารถในการรับมือปัญหาและลดทอนความเสี่ยงท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และผมมั่นใจว่าเราจะสามารถสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้ด้วยข้อมูลเชิงลึกและคำแนะนำที่จำเป็น เพื่อช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ตามที่ควรจะเป็น”
ทางด้าน นาย อาร์ช คอลมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ กล่าวว่า “จากงานวิจัย “Building MSME Resilience in Southeast Asia” ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจ MSMEs ในประเทศไทยต้องเผชิญกับความเสี่ยงทางธุรกิจที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาวะโลกร้อน มลพิษทางอากาศ น้ำท่วม รวมถึงปัญหาการบาดเจ็บและสุขภาพ เช่น โรคระบาดครั้งใหญ่ที่ผ่านมา ยังเป็นความท้าทายที่สำคัญ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น ด้วยความร่วมมือกับ UNDP เรามุ่งหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบ โดยการจัดหาเครื่องมือปกป้องความเสี่ยงทางการเงินและการจัดการความเสี่ยงให้กับ MSMEs เพื่อส่งเสริมการเติบโตและการมีส่วนร่วมที่มีความหมายต่อชุมชนและเศรษฐกิจของพวกเขา เราหวังว่าจะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับทาง UNDP เพื่อสนับสนุนกลุ่ม MSMEs ในการสร้างความยืดหยุ่นที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อไปในอนาคต และเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับงานประกาศความร่วมมือระหว่าง เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ และ UNDP ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก มร. เปาโล ดีโอนีซี เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย กล่าวเปิดงาน นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเสวนาเกี่ยวกับการส่งเสริมผู้ประกอบการ MSMEs ซึ่งมีผู้บริหารระดับสูงจาก UNDP รวมถึงสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ตัวแทนจากภาคธุรกิจ พันธมิตร และผู้บริหารเจนเนอราลี่จากภูมิภาคเอเชีย ร่วมให้ข้อมูลพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย โดยงานจัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่ กลุ่มบริษัท เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ อาคารพาร์ค สีลม
###
ความร่วมมือระหว่าง UNDP และเจนเนอราลี่
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และเจนเนอราลี่ได้ร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในด้านการเข้าถึงการประกันภัยและโซลูชันทางการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยง ซึ่งช่วยเสริมสร้างความสามารถในการรับมือปัญหาของชุมชนและธุรกิจในท้องถิ่น
ภายใต้ความร่วมมือระยะยาวครั้งนี้ เจนเนอราลี่มุ่งให้การสนับสนุนทรัพยากรทั้งด้านเทคนิคและการเงินให้กับโครงการ Insurance and Risk Finance Facility (IRFF) ของ UNDP เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประชาชนและพื้นที่ที่เปราะบางที่สุดในโลก
ความร่วมมือนี้ผสานความเชี่ยวชาญด้านการประกันภัยของเจนเนอราลี่เข้ากับวิสัยทัศน์ในระยะยาวของ UNDP ในการสนับสนุนด้านการเงินและการพัฒนา
นอกจากนี้ ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว UNDP และเจนเนอราลี่ยังให้การสนับสนุน InsuResilience Vision 2025 ซึ่งรวมถึงการช่วยให้ประชาชนที่เปราะบาง 500 ล้านคนเข้าถึงความคุ้มครองจากสภาพอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ การให้ความคุ้มครองประชาชนที่เปราะบาง 150 ล้านคนผ่านโซลูชั่นไมโครอินชัวรันส์ และการผลักดันนวัตกรรมด้านประกันภัยสู่หัวใจสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และวาระการดำเนินงาน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ