กานต์ รามอินทรา กับการนำทีมที่เหมือนวาทยกรบรรเลงความเชี่ยวชาญสู่เป้าหมายเดียวกัน

January 23, 2025
a person holding a sign
UNDP Thailand

หลายคนคงสงสัยกันว่า ตำแหน่งหัวหน้าทีมในหน่วยงานของสหประชาชาติเปิดรับสมัครแต่คนต่างชาติเท่านั้น คำตอบคือ ไม่จริงเสมอไป UNDP ขอต้อนรับปีใหม่พร้อม #FacesofUNDPThailand ซีซั่น 3 ชวนคุยกับ ‘คุณกานต์ รามอินทรา’ หัวหน้าทีม UNDP ประจำประเทศไทย หรือ Head of Programme ผู้มีประสบการณ์ด้านเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมทั้งในไทยและต่างประเทศ ผู้มีใจรักงานด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ และตั้งใจมาตลอดว่าวันหนึ่งเขาจะได้มีบทบาทพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน

จุดเปลี่ยนชีวิต - จากโลกเศรษฐศาสตร์การเงินสู่งานสายด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา 

การพัฒนาประเทศต้องการพลังขับเคลื่อนจากคนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่น และจุดเริ่มต้นของแรงบันดาลใจนั้นอาจเกิดขึ้นได้ในทุกที่ เฉกเช่นเรื่องราวของคุณกานต์ รามอินทรา อดีคนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ค้นพบตัวเองจากการได้ไปลงพื้นที่อาสาไปร่วมกิจกรรมกับนักศึกษาชาวญี่ปุ่นบนดอยแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ครั้งนั้นเกิดจากความคิดเพียงแค่อยากไปเที่ยว "ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมาก คิดว่าได้ไปเที่ยว แต่การไปเที่ยวครั้งนั้นกลับเปลี่ยนชีวิตผมไปเลย" 

การลงพื้นที่ทำให้เขาได้สัมผัสกับความเป็นจริงที่แตกต่างจากห้องเรียน ได้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการพัฒนา คุณกานต์มองว่า "ประเทศไทยยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องพัฒนาอีกเยอะ" ความคิดนี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ได้ทบทวนเส้นทางชีวิตใหม่  

จากที่เคยมุ่งหน้าสู่เส้นทางการเงิน คุณกานต์ตัดสินใจเปลี่ยนความเชี่ยวชาญมาเป็นเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม หลังจบการศึกษา ได้ทดลองทำงานวิจัยก่อนจะไปต่อยอดความรู้ด้านการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ จนท้ายที่สุดเส้นทางได้พาเขาเข้ามาสู่สายงานด้านการพัฒนา ผ่านการทำงานกับหลากหลายองค์กรระดับนานาชาติ ทั้งบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษ และองค์การระหว่างประเทศ 

ทำไมถึงอยากมาทำงานที่ UNDP  

หลังจากสั่งสมประสบการณ์การทำงานในระดับภูมิภาคมาระยะหนึ่ง ความรู้สึกอยากกลับมาทำงานเพื่อประเทศไทยโดยตรงก็เริ่มก่อตัวขึ้น จนกระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อมีพี่คนหนึ่งที่รู้จักได้แนะนำตำแหน่ง Head of Programme ที่ UNDP กำลังเปิดรับสมัคร "กานต์ ลองสมัครตำแหน่งนี้ดูสิ น่าจะเหมาะกับก๊อก (ชื่อเล่นของคุณกานต์) นะ" แม้จะเคยเห็นตำแหน่งนี้ผ่านตามาสองรอบแล้ว แต่ไม่เคยตัดสินใจสมัคร จนกระทั่งได้พูดคุยกับพี่คนนั้น  

"เราอยากทำงานช่วยพัฒนาประเทศ" ความฝันที่เคยบอกกับตัวเองในวันนั้น กำลังจะกลายเป็นความจริง ด้วยความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองที่จะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ไปจนถึงเวทีสากลอย่างสหประชาชาติ การตัดสินใจสมัครในครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงการหางานใหม่ แต่เป็นก้าวสำคัญในการทำตามเสียงของตัวเองตั้งแต่ได้ไปค่ายอาสาครั้งนั้น 

ยืดหยุ่น เชื่อมโยง มองเห็นภาพใหญ่ DNA ของการทำงานที่ UNDP  

เมื่อพูดถึงเรื่องการพัฒนาเราไม่สามารถเลือกที่จะพัฒนาได้แค่ด้านเดียว ทุกด้านย่อมเชื่อมโยงกันหมด เมื่อเศรษฐกิจเดินหน้า สังคมก็ต้องก้าวกระโดดไปพร้อมกัน และต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม UNDP เป็นองค์กรที่มีภารกิจครอบคลุมหลายประเด็น คุณกานต์แลกเปลี่ยนมุมมองว่า การแก้ปัญหาแบบแยกส่วนอาจสร้างผลกระทบที่ไม่คาดคิด เช่น การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดโดยลืมคำนึงถึงแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็็อาจทำให้พนักงานตกงานได้ "เพราะการใช้วิธีแบบนี้เป็นการแก้ปัญหาเพียงด้านเดียว ไม่ได้จบปัญหาทั้งหมด" คุณกานต์เน้นย้ำถึงความสำคัญของการมองปัญหาแบบบูรณาการ ที่ไม่เพียงช่วยให้เห็นภาพรวมของปัญหาชัดขึ้น แต่ยังนำไปสู่การแก้ไขที่ยั่งยืนและไม่สร้างปัญหาใหม่ให้สังคม 

นอกจากนี้ การออกแบบโครงการและนโยบายต่าง ๆ ยังต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนพิการ เยาวชน คนชาติพันธุ์ หรือกลุ่มความหลากหลายทางเพศ 

คุณกานต์เผยกับเราว่า "บางครั้งก็เป็นเรื่องท้าทายสำหรับผมเหมือนกันที่ต้องคอยพาทุกคนในทีมมองภาพเดียวแบบผม" เนื่องจากสมาชิกแต่ละคนมักจะโฟกัสเฉพาะงานในความรับผิดชอบ จนอาจมองข้ามโอกาสในการเชื่อมโยงและบูรณาการงานร่วมกัน แต่มันคือหน้าที่ของนักบูรณาการที่ต้องต่อจิ๊กซอว์ทุกชิ้นให้ครบ 

a person sitting at a desk in front of a computer
UNDP Thailand

การเป็นนักพัฒนา คือการทำงานอย่างเข้าใจพื้นที่ เข้าถึงชุมชน 

อีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญของการเป็นนักพัฒนา คือการทำงานร่วมกับชุมชนและพื้นที่ต่าง ๆ เป็นการทำงานนอกออฟฟิศเพื่อเข้าใจปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ เพื่อให้เราทำงานได้อย่างตอบโจทย์และตรงจุดกับปัญหาที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คุณกานต์แลกเปลี่ยนว่า "การไปมิชชั่น หรือไปใน field สำคัญครับ การพัฒนาจะไม่คืบหน้าหากไม่มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนในพื้นที่"  

การทำงานในพื้นที่ไม่เพียงเปิดโอกาสให้ได้พบปะเครือข่าย แต่ยังทำให้เห็นผลลัพธ์ของการทำงานอย่างเป็นรูปธรรม เสียงขอบคุณและคำชื่นชมจากคนในพื้นที่คือรางวัลที่มีค่ามากกว่าผลตอบแทนทางการเงิน "สำหรับผมแล้วการมาทำงานตรงนี้ เรามองถึงเรื่องการสร้างและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในพื้นที่ต่าง ๆ" ความภาคภูมิใจที่เกิดขึ้นจึงเป็นผลจากการได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของผู้คน  

จุดเริ่มต้นของทีมเวิร์ก คือการสร้างบรรยากาศการทำงานที่เคารพซึ่งกันและกัน 

การมีบรรยากาศการทำงานที่ดี เพื่อนร่วมงานซัพพอร์ต เป็นความฝันที่ใครหลาย ๆ คนมองหาในโลกการทำงาน การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เคารพความหลากหลายเริ่มต้นได้จากตัวเราเองเช่นกัน  

ในฐานะ Head of Programme คุณกานต์ให้ความสำคัญกับการเคารพอัตลักษณ์ที่หลากหลายในที่ทำงาน เพราะสิ่งนี้ช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานที่เป็นมิตร ลดความขัดแย้ง และส่งเสริมการทำงานเป็นทีม เมื่อมีความหลากหลายในที่ทำงานย่อมเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพของตนได้มีประสิทธิภาพที่สุด คุณกานต์เล่ากับเราว่า  "ในที่ทำงานจะมีน้องคนหนึ่งเป็นคนพิการทางสายตา ช่วงแรกผมก็ต้องอาศัยการไถ่ถาม เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเขาเหมือนกัน"  ฉะนั้่นการเคารพอัตลักษณ์ที่หลากหลายจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของการทำตามกฎหมายหรือนโยบาย แต่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมโดยรวม 

อีกหนึ่งกุญแจสำคัญคือการเรียนรู้ผ่านการสื่อสาร โดยเฉพาะในองค์กรที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม "การสื่อสารต้องเป็นแบบ two-way communications ด้วย ไม่ใช่แค่รับหรือบอกกล่าวอย่างเดียว" คุณกานต์ย้ำถึงความสำคัญของการสื่อสาร ที่รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศ ทั้งในการปฏิบัติกับคนในองค์กร หรือการผนวกมิตินี้เข้าไปในทุกประเด็นการพัฒนา ที่เขาเองต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าการสื่อสารทุกครั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจและความเคารพ 

a group of people sitting at a table
UNDP Thailand

ชีวิตผมก็เหมือน Conductor คนหนึ่ง... 

UNDP เป็นหน่วยงานที่มีความหลากหลายสูง เราต้องทำงานร่วมกับคนหลากหลายเชื้อชาติ เพศสภาพ ไปจนถึงความเชี่ยวชาญและภูมิหลังที่แตกต่างกัน ซึ่งคุณกานต์เปรียบเปรยว่า การบริหารของเขาเปรียบเสมือนการกำกับวงดนตรี หรือ วาทยกร (conductor) ที่ต้องประสานการทำงานของผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน "ลองนึกถึงเวลาเรากำลังเล่นเพลงชิ้นหนึ่งในโรงมหรสพ โดยเพลงชิ้นนั้นต้องอาศัยนักดนตรีที่มีความถนัดแตกต่างกันไปตามเครื่องเล่นที่เขาเรียนรู้มา" 

แม้จะมีความท้าทายในการประสานงาน แต่กุญแจสำคัญในการก้าวข้ามอุปสรรคคือการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เคารพซึ่งกันและกัน "เมื่อเราต้องสวมหมวกเป็น conductor สิ่งแรกที่ผมนึกถึงเสมอคือ การให้ความเคารพซึ่งกันและกันของคนในทีม" เขากล่าว พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรับฟัง ความไว้วางใจ และการกล้าที่จะขอความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น 

 

ต้องเป็นได้ทั้ง Team Player และ Team Leader  

ในโลกของการทำงานที่หลากหลาย รูปแบบของผู้นำที่เหมาะสมย่อมแตกต่างกันไปตามบริบท "มันไม่มีคำตอบตายตัวครับ" คุณกานต์เริ่มต้น พร้อมอธิบายว่าบางองค์กรอาจต้องการผู้นำที่ตัดสินใจเด็ดขาด ในขณะที่งานด้านการพัฒนาต้องการผู้นำที่มีคุณสมบัติหลากหลาย เช่น "ผู้นำที่เข้าใจประเด็นในแต่ละเรื่องได้อย่างลึกซึ้ง มองภาพรวม เชื่อมโยงประเด็นแบบบูรณาการได้"  

คุณกานต์เสริมว่า ผู้นำที่ดีต้องพร้อมที่จะเป็นได้ทั้ง team leader และ team player ในหลายสถานการณ์เราต้องรับบทบาทที่หลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น เวลาไปสำรวจพื้นที่ เราต้องทำตั้งแต่ 

การจัดเตรียมงานประชุมไปจนถึงการบันทึกภาพ  

ความสำเร็จของผู้นำในงานพัฒนาไม่ได้วัดจากความเชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียว แต่ต้องผสมผสานทั้ง soft skills และ hard skills เข้าด้วยกัน "ยิ่งถ้ามาทำงานสายนี้ ต้องอาศัยทักษะการประสานงาน แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เชื่อมความสัมพันธ์" เขากล่าว สะท้อนให้เห็นว่าการเป็นผู้นำที่ดีต้องรู้จักปรับตัวและพัฒนาตนเองอย่างรอบด้าน 

งานเยอะแบบนี้ ฮีลใจ ฮีลกายยังอย่างไรบ้าง  

ในโลกของการทำงานด้านพัฒนาที่เจอกับความท้าทายใหม่ ๆ ทั้งในระดับประเทศและสากล ความท้าทายและความกดดันจึงป็นเพื่อนร่วมทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทุกคนมีวิธีจัดการความเหนื่อยล้าในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยปลดปล่อยความเครียด การจมดิ่งในโลกของหนังสือเล่มโปรด หรือการผ่อนคลายผ่านการเล่นเกม สำหรับคุณกานต์ การทำงานในพื้นที่เป็นสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจ และช่วยตอกย้ำเป้าหมายและความหมายของสิ่งที่ทำ  

"เรามาช่วยคน งานที่เราทำช่วยคนนะ" คำพูดเรียบง่ายจากเพื่อนร่วมงานที่กลายเป็นเครื่องเตือนใจสำคัญ สะท้อนให้เห็นว่าบางครั้ง การเยียวยาใจที่ดีที่สุดอาจไม่ใช่การหนีจากงาน แต่เป็นการหวนกลับมามองเป้าหมายที่แท้จริงของสิ่งที่ทำ เพราะในท้ายที่สุด การได้เห็นว่างานที่ทำส่งผลกระทบในทางบวกต่อชีวิตผู้คน คือพลังที่ช่วยให้ก้าวผ่านความเหนื่อยล้าและมุ่งหน้าต่อไปได้อย่างมีความหมาย 

ทำมาเยอะขนาดนี้ คิดว่า สิ่งที่เราทำอยู่ช่วยสังคมยังไง ?  

UNDP มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในฐานะหน่วยงานสหประชาชาติที่ทำหน้าที่เป็น 'SDGs Integrator' ตลอดระยะเวลา 60 ปีในประเทศไทย องค์กรได้สร้างความน่าเชื่อถือผ่านการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ไปจนถึงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ 

"ผมเลยอยากใช้หมวกใบนี้เป็นการชวนคนหลายกลุ่มคุยกันว่า เราจะทำอย่างไรให้สังคมมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง" เขาเล่าถึงวิสัยทัศน์ในฐานะ Head of Programme ที่มุ่งเปิดประเด็นสนทนาที่สังคมยังไม่กล้าพูดถึงหรือยังมองไม่เห็นทางออก 

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือประเด็นการท่องเที่ยวยั่งยืน ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือการลดใช้พลาสติก แต่ยังรวมถึงการสร้างการเข้าถึงสำหรับคนพิการ "เราจะทำอย่างไรให้เขาได้ท่องเที่ยวอย่างเสรี" คำถามที่สะท้อนมุมมองการพัฒนาแบบองค์รวม 

คุณกานต์เปรียบเทียบบทบาทของตนเอง "เหมือนกับแมลงปอที่มีหลายเลนส์ อย่างอันนี้คงเป็นเวอร์ชั่นใส่แว่นสายตา 17 เลนส์"  สะท้อนให้เห็นความท้าทายในการมองปัญหาจากหลากหลายมุม เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมและยั่งยืนอย่างแท้จริง 

a man standing in front of a computer
UNDP Thailand

เส้นทางสู่ความเท่าเทียม มุมมองจากผู้นำทีมและพ่อคนหนึ่ง 

UNDP ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศในทุกมิติของการพัฒนา ตั้งแต่สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ นวัตกรรม ไปจนถึงธรรมาภิบาล โดยมีกฎระเบียบที่ชัดเจนในการบูรณาการประเด็นเพศสภาพเข้าสู่ทุกโครงการ "ทำอย่างไรให้สังคมเกิดความตระหนักรู้มากยิ่งขึ้นในการส่งเสริมความเท่าเทียมและยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคม" คำถามที่ท้าทายการทำงานของทีม 

แม้ประเทศไทยจะก้าวหน้าในด้านความเท่าเทียมทางเพศ แต่ยังมีช่องว่างที่ต้องเติมเต็ม โดยเฉพาะการส่งเสริมบทบาทสตรีในระดับผู้นำ "ในรัฐสภายังมีสัดส่วนนักการเมืองสตรีไม่ถึงร้อยละ 20" ตัวเลขที่สะท้อนความท้าทายในการสร้างความเท่าเทียมในระดับนโยบาย 

อุปสรรคสำคัญมาจากรากฐานทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่มีการกำหนดบทบาททางเพศอย่างชัดเจน แต่โลกปัจจุบันพิสูจน์แล้วว่าศักยภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศสภาพ การเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงศักยภาพจึงเป็นการเพิ่มทุนมนุษย์ที่สำคัญ  

"ผมไม่ได้ทำหน้าที่แค่ Head of Programme แต่ผมก็พ่อคนหนึ่งที่มีลูกสาว ผมอยากให้เขาเติบโตในสังคมที่มีโอกาสเท่าเทียมกัน" เสียงสะท้อนของคุณกานต์ทีมองว่าการสร้างความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่เพียงภารกิจขององค์กร แต่เป็นเรื่องที่พ่อแม่ยุคใหม่่หวังให้คนในครอบครัวได้เติบโตในสังคมที่ดีกว่า  

งท้ายคำแนะนำให้คนที่สนใจทำงานด้านนี้ แล้วอยากมาเป็นส่วนหนึ่ง #JoinALifeChangingMission กับ UNDP หน่อย 

หากคุณมีใจรักในงานด้านการพัฒนา อยากเห็นสังคมไทยก้าวหน้าอย่างยั่นยืน และสนใจการทำงานหลากหลายประเด็น อย่าได้ลังเล มาร่วมการเดินทางกับพวกเราเลยครับ 

ขอ 3 คำ กับ UNDP Integration (บูรณาการ), Equality (เท่าเทียม) and Well-being (ความเป็นอยู่ที่ดี)
กานต์ รามอินทรา หัวหน้าทีม UNDP ประจำประเทศไทย