ตากมุ่งหน้าพัฒนาจังหวัดสู่ความยั่งยืนผ่านการขับเคลื่อนของทุกคนในพื้นที่

กิจกรรมแลกเปลี่ยนและสำรวจการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ (SDG localization) ในจังหวัดตาก โครงการนี้สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป

May 29, 2024

 

ตาก ประเทศไทย 24 พฤษภาคม 2567: สหภาพยุโรป กระทรวงมหาดไทย และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เดินทางไปแลกเปลี่ยนและสำรวจการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ (SDG localization) ณ จังหวัดตากเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ร่วมกับพันธมิตรสำคัญจากหลายภาคส่วนของจังหวัดตาก อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์กรภาคประชาสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามและประเมินกรอบสำหรับนโยบายการพัฒนาในระดับท้องถิ่นให้เกิดความสอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่และความสำคัญระดับชาติ ผ่านฐานข้อมูลรายงานความคืบหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีสถิติครบถ้วนและเป็นปัจจุบันมากที่สุด (SDG Profile)

โครงการ 'Strengthening SDG Localization in Thailand'ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป มีเป้าหมายคือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระดับนโยบาย และการผลักดันให้ SDGs ถูกนำไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่น โดยการเยือนจังหวัดตากครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ และตัวอย่างของการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ เพื่อขยายต่อไปใน 77 จังหวัดทั่วประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมาย SDGs ภายในปี 2030 การเดินทางไปแลกเปลี่ยนและสำรวจการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ (SDG localization) ณ จังหวัดตากในครั้งนี้ จังหวัดได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่โดดเด่นในด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านการผลิตพลังงานหมุนเวียน การจัดการกับมลพิษทางอากาศ และการจัดการขยะอันตราย (SDG 7, 11, และ 12) ที่ทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ แม้จะเผชิญกับปัญหา PM2.5 อันเกิดจากภูมิศาสตร์ที่ตั้งของจังหวัดก็ตาม ขณะที่ตากยังเผชิญกับความท้าทายหลัก คือความยากจนที่ยืดเยื้อ (SDG 1) ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนชายขอบและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงการบริการสาธารณสุข (SDG 3) ที่ยังไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้อพยพ เนื่องจากตากเป็นจังหวัดที่ผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ความท้าทายเหล่านี้ตอกย้ำความสำคัญในการการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในบางประเด็นเพิ่มเติมอย่างเร่งด่วน

 

ฯพณฯ นายเดวิด เดลี เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ความมุ่งมั่นที่เราได้เห็นในวันนี้จากพันธมิตรทั้งหมดเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการทำงานร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศซึ่งสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกพร้อมที่จะสนับสนุนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างสอดคล้องกันระหว่างผลประโยชน์ นโยบาย หลักการ และค่านิยม ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับสภาพยุโรป”

นางสาวเอกรัตน์ นาคาคง ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า “การรวมตัวนี้เป็นสัญญาณที่ดีของความร่วมมือเพื่อช่วยพัฒนาขีดความสามารถของจังหวัดและแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกระทรวงมหาดไทยในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปปฏิบัติในเชิงพื้นที่อย่าง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา โดยกระทรวงมหาดไทยพร้อมที่จะขับเคลื่อนทุกเป้าหมายของ SDGs ในทุกจังหวัดทั่วประเทศเพื่อให้ตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ ๆ และนำไปสู่การพัฒนาของประชาชนทุกคนอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

 

การแลกเปลี่ยนและสำรวจครั้งนี้จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคม (Whole of Society Approach) ที่เริ่มต้นจากระดับท้องถิ่น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์กรภาคประชาสังคม อาทิ มูลนิธิซาทูเหล่ ศูนย์เรียนรู้ชุมชน Sela eco printing-บ้านไร่ไม้งาม และกลุ่มไร่ชาววัง ผ่านการการมอบทุนสนับสนุน การฝึกอบรมด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และการสร้างโอกาสในการสร้างเครือข่าย เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคประชาสังคมในการร่วมขับเคลื่อน SDGs ระดับพื้นที่

นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กล่าวเพิ่มเติมว่า “ภายใต้วิสัยทัศน์การพัฒนาจังหวัดที่ว่า ‘เมืองน่าอยู่ ประตูการค้าชายแดน’ จังหวัดตากได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดในอีก 20 ปี ข้างหน้า ให้เป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าการเกษตรที่สำคัญของประเทศ เชื่อมโยงการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวบนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี หลุดพ้นความยากจน ที่ขับเคลื่อนผ่านโครงการสำคัญภายใต้แนวคิด 20 โครงการ 20 ปี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนตากและกำหนดให้การขจัดความยากจนเป็นวาระสำคัญของจังหวัด”

 

นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “จากการทำงานของทีมงาน UNDP ร่วมกับรัฐบาลไทยและภาคส่วนต่าง ๆ ในปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ (SDG localization) นั้นก่อให้เกิดประโยชน์ในระดับพื้นที่อย่างมากกับทั้งผู้บริหารจังหวัดและผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งแน่นอนว่าประชาชนในจังหวัดจะได้รับประโยชน์สูงสุดเช่นกัน เราจึงหวังว่าจะมีการขยายขอบเขตการดำเนินโครงการจากจังหวัดนำร่อง ไปสู่ทุกจังหวัดในประเทศไทย เพื่อนำพาประเทศไทยไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ “1 จังหวัด 1 คำมั่นสัญญา เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน”