พจนานุกรมสภาพภูมิอากาศ: คู่มือคำศัพท์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
October 5, 2023
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาสำคัญในยุคสมัยของเรา ในแต่ละวัน ผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ มีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านสภาพอากาศ แต่หากคุณยังไม่คุ้นเคยกับเรื่องสภาพภูมิอากาศ อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจ
โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme - UNDP) จึงได้ระบบสมอง ไอเดียเตรียมแหล่งข้อมูลที่นิยามคำศัพท์และแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากกำลังมองหาคู่มือที่จะนำไปเปิดเป็นบทสนทนาเรื่องสภาพอากาศ ชุดความรู้คัมภีร์สภาพภูมิอากาศนี้คือคำตอบสำหรับคุณ
เราขอเชิญชวนให้คุณอ่าน บุ๊กมาร์กไว้ และใช้ประโยชน์จากคัมภีร์ชุดคำศัพท์นี้ในการทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถติดตามการอัพเดทเกี่ยวกับชุดความรู้สภาพภูมิอากาศนี้ได้ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ของ UNDP
Weather [สภาพอากาศ] สภาพบรรยากาศในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ในสถานที่หนึ่ง ๆ รวมถึงอุณหภูมิ ความชื้น ฝน การมีเมฆ ลม และทัศนวิสัย สภาพอากาศไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว แต่มีผลกระทบที่เกี่ยวเนื่องกัน สภาพอากาศในภูมิภาคหนึ่งจะส่งผลต่อสภาพอากาศที่อยู่ห่างออกไปหลายร้อยหรือหลายพันกิโลเมตรในที่สุด
Climate [ภูมิอากาศ] ค่าเฉลี่ยของรูปแบบสภาพอากาศในพื้นที่หนึ่ง ๆ ในระยะเวลาที่ยาวนาน โดยปกติคือ 30 ปีหรือมากกว่านั้น ซึ่งแสดงถึงสถานะโดยรวมของระบบภูมิอากาศ
Greenhouse gas emissions [การปล่อยก๊าซเรือนกระจก] ก๊าซเรือนกระจกเป็นก๊าซที่ดักจับความร้อนในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ก๊าซเรือนกระจกหลักที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ รวมทั้งก๊าซฟลูออรีนที่ใช้สำหรับการทำความเย็นและตู้เย็น รัฐบาลของประเทศทั่วโลกต้องทำงานร่วมกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมาก และรักษาภาวะโลกร้อนให้ต่ำกว่าเกณฑ์อันตรายที่ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Global warming [ภาวะโลกร้อน หรือ สภาวะโลกร้อน] การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของโลกที่เกิดขึ้นเมื่อความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น เมื่อก๊าซเรือนกระจกดูดซับรังสีดวงอาทิตย์ได้มากขึ้นและดักจับความร้อนได้มากขึ้น จึงทำให้โลกร้อนขึ้น การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า และการทำฟาร์มปศุสัตว์เป็นกิจกรรมบางอย่างของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
Climate Change [การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ] หมายถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในระยะยาวซึ่งทำให้ชั้นบรรยากาศ มหาสมุทร และพื้นดินอุ่นขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น เช่น พายุเฮอริเคนที่รุนแรงและหรือบ่อยครั้ง น้ำท่วม คลื่นความร้อน และความแห้งแล้ง และนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและการกัดเซาะชายฝั่งอันเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน การละลายของธารน้ำแข็ง การสูญเสียน้ำแข็ง แผ่นน้ำแข็ง
Climate Crisis [วิกฤตสภาพภูมิอากาศ] หมายถึงปัญหาร้ายแรงที่กำลังเกิดขึ้นหรือมีแนวโน้มที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก รวมถึงสภาพอากาศสุดขั้วและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาวะกรดในมหาสมุทรและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ความไม่มั่นคงด้านอาหารและน้ำ ความเสี่ยงด้านสุขภาพ การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ การพลัดถิ่น และแม้แต่ความขัดแย้งที่รุนแรง นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1800 กิจกรรมของมนุษย์ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2° C โดยมากกว่าสองในสามของภาวะโลกร้อนนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1975 ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างสำคัญต่อสังคมมนุษย์และระบบนิเวศทางธรรมชาติในหลายส่วนของ โลก. ผู้คนมากกว่า 3 พันล้านคนอาศัยอยู่ในสถานที่ซึ่งเสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างมาก โดยประเทศที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบอย่างไม่เป็นสัดส่วนนักวิทยาศาสตร์คาดว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเกิน 1.5°C จะเริ่มนำไปสู่จุดเปลี่ยนที่เป็นอันตรายหลายประการ ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างแก้ไขไม่ได้ และก่อให้เกิดภัยคุกคามร้ายแรงต่ออารยธรรมของมนุษย์ นี่คือเหตุผลที่รัฐบาลต้องดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมาก และวางแผนแนวทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเป็นศูนย์ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ลงทุนในการปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติและชีวนิเวศที่โลกต้องพึ่งพา
Feedback loop [วงจรโลกร้อนสะท้อนกลับ] ปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เกิดขึ้นเป็นวัฏจักร โดยเกิดขึ้นเมื่อการเปลี่ยนแปลงหนึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอื่นต่อ ๆ ไป เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งวงจรสะท้อนกลับเหล่านี้บางส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน แต่บางส่วนก็เพิ่มภาวะโลกร้อน
Tipping point [จุดพลิกผันด้านสภาพภูมิอากาศ] เกณฑ์ที่การเปลี่ยนแปลงบางอย่างอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไม่สามารถย้อนกลับไปได้ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจนำไปสู่ผลกระทบอย่างกะทันหันและเป็นอันตรายโดยมีนัยยะสำคัญต่ออนาคตของโลกของเรา
Climate Overshoot [ภูมิอากาศเกินขีด] ช่วงเวลาที่อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ก่อนที่จะลดระดับลง ซึ่งคาดว่าช่วงเวลานี้น่าจะเกิดขึ้นประมาณกลางศตวรรษนี้
Mitigation [การลดก๊าซเรือนกระจก] การดำเนินการใด ๆ ของรัฐบาล ธุรกิจ และประชาชน เพื่อลด เก็บกัก หรือป้องกันการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
Adaptation [การปรับตัว] แผนกระบวนการ และพฤติกรรมที่เป็นการปรับตัว/การปรับเปลี่ยน ทั้งในระบบของมนุษย์และธรรมชาติ เพื่อตอบสนองต่อและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ
Resilience [ความสามารถในการฟื้นตัว] ความสามารถของชุมชนหรือสภาพแวดล้อมในการคาดการณ์และจัดการเหตุการณ์ทางภูมิอากาศที่เป็นอันตราย และฟื้นตัวและเปลี่ยนแปลงหลังจากเกิดผลกระทบที่ตามมาโดยสร้างความเสียหายต่อความเป็นอยู่ทางสังคม กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
Carbon footprint [ร่องรอยคาร์บอน] ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน และการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (อ้างอิง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก)
Climate justice [ความเป็นธรรมทางภูมิอากาศ] การคำนึงถึงความเสมอภาคและสิทธิมนุษยชนเป็นแกนหลักของการตัดสินใจและการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Nature-based solutions [การแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน] การดำเนินการที่อิงกับธรรมชาติในการสนับสนุนการปรับตัวและบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้ระบบและกระบวนการทางธรรมชาติเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และเอื้อต่อการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน เป็นการกระทำที่ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ และได้รับการออกแบบและดำเนินการโดยมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และได้รับความยินยอมจากชุมชนท้องถิ่น
Indigenous knowledge [ภูมิปัญญาท้องถิ่น / ภูมิปัญญาชาวบ้าน] องค์ความรู้ของชนพื้นเมืองที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นและอ้างอิงจากชุมชน อันเป็นแหล่งความรู้ที่ดีในการแก้ไขปัญหาพัฒนาการลดผลกระทบ ปรับปรุงการปรับตัว และสร้างความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เพื่อสนับสนุนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์โดยใช้ข้อมูลจากพื้นที่ที่แม่นยำซึ่งมีความสำคัญต่อการประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Loss and damage [การสูญเสียและความเสียหาย] สามารถอ้างถึงทั้งการสูญเสียทางเศรษฐกิจและที่ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจ การสูญเสียและความเสียหายทางเศรษฐกิจอาจรวมถึงสิ่งต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับความเสียหายซ้ำแล้วซ้ำเล่าเนื่องจากพายุไซโคลนหรือน้ำท่วม หรือการสูญเสียที่ดินชายฝั่ง (และบ้านเรือนและธุรกิจ) เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและการกัดเซาะชายฝั่ง
Climate security [ความมั่นคงด้านสภาพภูมิอากาศ] การประเมิน จัดการ และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อสันติภาพและเสถียรภาพที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งหมายถึงการทำให้แน่ใจว่าการลดและการปรับตัวของสภาพอากาศเป็นมากกว่าการไม่ก่อให้เกิดอันตรายและก่อให้เกิดผลเชิงบวกต่อสันติภาพและเสถียรภาพ นอกจากนี้ยังหมายความว่าการป้องกันความขัดแย้งและการแทรกแซงการสร้างสันติภาพที่คำนึงถึงผลกระทบของสภาพอากาศด้วย
Climate finance [การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ] ทรัพยากรทางการเงินและเครื่องมือที่ใช้เพื่อสนับสนุนการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเงินด้านสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Net zero [เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์] การจัดการในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมของมนุษย์ให้มีภาวะสมดุลกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลก โดยความพยายามของมนุษย์ในการกำจัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (เช่น โดยการสร้างแหล่งกักเก็บคาร์บอนเพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) ซึ่งจะช่วยหยุดการเพิ่มความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศ
Decarbonization [การลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์] การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สังคมก่อขึ้น เช่นเดียวกับการเพิ่มปริมาณก๊าซที่ถูกดูดซับซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้านของเศรษฐกิจ ตั้งแต่วิธีการผลิตพลังงาน ไปจนถึงวิธีการผลิตและส่งมอบสินค้าและบริการ รวมถึงวิธีการก่อสร้างอาคารและวิธีการจัดการที่ดิน
Renewable energy [พลังงานหมุนเวียน] พลังงานที่ได้จากแหล่งธรรมชาติที่มีการหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง เช่น ลม แสงแดด การไหลของน้ำที่เคลื่อนที่ และความร้อนใต้พิภพ ซึ่งตรงกันข้ามกับพลังงานที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นอันตรายซึ่งเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีราคาถูก สะอาด ยั่งยืน และสร้างงานมากกว่า
carbon sink [การดูดซับก๊าซเรือนกระจก] แหล่งดูดซับที่ส่งผลให้ก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่ในบรรยากาศถูกดูดซับไปกักเก็บไว้ เช่น การปลูกป่าไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ (อ้างอิง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก)
Carbon removal [กระบวนการกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์] กระบวนการที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกกำจัดออกจากชั้นบรรยากาศโดยกิจกรรมของมนุษย์โดยเจตนา และถูกเก็บไว้อย่างถาวรในแหล่งกักเก็บทางธรณีวิทยา บนบก หรือในมหาสมุทร หรือในผลิตภัณฑ์
Carbon markets [ตลาดคาร์บอน] ตลาดเพื่อการซื้อขายคาร์บอนเครดิตซึ่งเป็นแนวคิดในการใช้กลไกตลาดเป็นแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Regenerative agriculture [ระบบการเกษตรกรรมฟื้นฟู] วิธีการทำการเกษตรที่บำรุงและฟื้นฟูสุขภาพของดิน ดังนั้นจึงช่วยลดการใช้น้ำ ป้องกันการเสื่อมโทรมของที่ดิน และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการไถพรวนดินให้น้อยที่สุด ปลูกพืชหมุนเวียน และใช้มูลสัตว์และปุ๋ยหมัก ระบบการเกษตรกรรมฟื้นฟูช่วยทำให้ดินกักเก็บคาร์บอนได้มากขึ้น รักษาความชื้นได้มากขึ้น และมีสุขภาพดีขึ้น
Reforestation [การฟื้นฟูสภาพป่า] กระบวนการปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ที่เพิ่งมีต้นไม้ปกคลุมแต่ป่าได้สูญเสียไปเนื่องจากไฟป่า ภัยแล้ง โรคพืช หรือกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การถางป่า
Afforestation [การปลูกป่า] กระบวนการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการปลูกป่าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การปลูกป่าช่วยฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมที่ถูกทิ้งร้างและเสื่อมโทรม ป้องกันการแปรสภาพเป็นทะเลทราย สร้างแหล่งกักเก็บคาร์บอน และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ให้กับชุมชนท้องถิ่น
Rewilding [การฟื้นคืนธรรมชาติ] การฟื้นฟูระบบนิเวศที่ได้รับความเสียหายจากกิจกรรมของมนุษย์ การฟื้นคืนธรรมชาติเป็นมากกว่าการอนุรักษ์ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์สายพันธุ์เฉพาะผ่านการแทรกแซงของมนุษย์ การฟื้นคืนธรรมชาติหมายถึงการจัดสรรพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อให้โลกธรรมชาติได้งอกใหม่ตามเงื่อนไขของมันเอง การดำเนินการนี้บางครั้งต้องมีการปล่อยสัตว์สายพันธุ์หลักที่สูญพันธุ์ไปแล้วคืนสู่ธรรมชาติในบางภูมิภาค เช่น บีเวอร์ หมาป่า หรือสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยสร้างระบบนิเวศทั้งหมด
Circular economy [เศรษฐกิจหมุนเวียน] แนวทางการออกแบบกระบวนการ ผลิตภัณฑ์ บริการและรูปแบบธุรกิจโดยการหมุนเวียนเอาทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่เพือให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เกิดการใช้ทรัพยากรใหม่น้อยที่สุดและผลักดันให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน
Blue economy [เศรษฐกิจสีน้ำเงิน] แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน
Green jobs [งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม] หรือ งานสีเขียว ซึ่งเป็นงานที่มีส่วนช่วยในการปกป้องและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ งานสีเขียวสามารถพบได้ทั้งในการผลิตผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานหมุนเวียน และในกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การรีไซเคิล
Greenwashing [การฟอกเขียว] สถานการณ์ที่บริษัทกล่าวอ้างและทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมหรือความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์และบริการของตน เพื่อโน้มน้าวใจผู้บริโภคว่าบริษัทกำลังดำเนินการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในบางกรณีการฟอกเขียวอาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ เนื่องจากการขาดความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม บางกรณีบริษัทสามารถดำเนินการโดยเจตนาให้เป็นกิจกรรมทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์โดยใช้ประโยชน์จากการสนับสนุนจากสาธารณะต่อนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อผลกำไร
Just transition [การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม] การที่ประเทศต่าง ๆ เลือกที่จะสร้างเศรษฐกิจของตนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมผ่านเส้นทางการเปลี่ยนผ่านและแนวทางที่ส่งเสริมความเสมอภาคและการไม่แบ่งแยก ซึ่งหมายถึงการดูผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงต่อแรงงานกลุ่มต่าง ๆ ทั่วทั้งระบบเศรษฐกิจ และให้โอกาสในการฝึกอบรมและเสริมทักษะที่สนับสนุนงานที่เหมาะสมและมีเป้าหมายที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
UNFCCC (United Nations Framework Convention on Climate Change) [กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ] อนุสัญญาที่จัดทำขึ้นเพื่อหาแนวทางยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับมนุษย์ ซึ่งครอบคลุมถึงการดำเนินงาน และความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด โดย UNFCCC เกิดขึ้นจากการตกลงร่วมกันของรัฐบาลนานาชาติในการประชุมสิ่งแวดล้อมโลก (Earth summit 1992) ที่นคร ริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล UNFCCC มีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2537 (ค.ศ. 1994) และได้รับการให้สัตยาบันจากประเทศต่างๆกว่า 192 ประเทศ
COP (Conference of the Parties) [ที่ประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ] เป็นองค์กรสูงสุด (Supreme body) ที่เป็นเวทีการเจรจาระหว่างประเทศของรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจดำเนินการภายใต้อนุสัญญาฯ โดยจะมีการประชุม COP ในราวเดือนพฤศจิกายน/ธันวาคมของทุกปี เริ่มจัดการประชุมครั้งแรก หรือ COP1 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1995 (อ้างอิง องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก)
Paris Agreement [ความตกลงปารีส] สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันตามกฎหมายโดยมีเป้าหมายเพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยควรอยู่ที่ 1.5องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม ได้รับการรับรองโดย 196 ภาคีในปี พ.ศ. 2558 ที่ งการประชุมภาคีสมาชิกของยูเอ็นเอฟซีซีซีครั้งที่ 21 (COP21) ในกรุงปารีส และมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2559
Nationally Determined Contributions [การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด] คำมั่นสัญญาด้านสภาพภูมิอากาศและแผนปฏิบัติการที่แต่ละประเทศจำเป็นต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับเป้าหมายข้อตกลงปารีสในการจำกัดภาวะโลกร้อนไว้ที่ 1.5องศาเซลเซียส การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDCs) แสดงถึงแผนระยะสั้นถึงระยะกลางที่มีการปรับปรุงทุก ๆ ห้าปีด้วยกำรกำหนดเป้าหมายที่มีความทะเยอทะยานที่สูงขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Transparency [(รายงาน) ความโปร่งใส] ภายใต้ความตกลงปารีส ประเทศต่าง ๆ จะต้องรายงานอย่างสม่ำเสมอเกี่ยวกับการดำเนินการตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดของตน (NDCs) สิ่งสำคัญคือการรายงานนี้ต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส เพื่อให้ประชาคมโลกสามารถประเมินความคืบหน้าโดยรวมได้อย่างถูกต้อง และสร้างความไว้วางใจว่าทุกคนมีส่วนร่วมในส่วนของตน
National Adaptation Plans (NAPs) [แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ] แผนที่ช่วยให้ประเทศต่าง ๆ วางแผนและดำเนินการเพื่อลดความเปราะบางต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่น โดยแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติจะเชื่อมโยงไปยัง การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Definated Contribution: NDCs) และนโยบายและโครงการระดับชาติและระดับภาคอื่น ๆ
Long-term strategies [ยุทธศาสตร์ระยะยาว] ภายใต้ข้อตกลงปารีส ประเทศต่าง ๆ ได้รับเชิญให้จัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งสังคมในช่วงหลายทศวรรษ ซึ่งโดยปกติจะถึงปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ.2050) เอกสารยุทธศาสตร์ระยะยาวจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ระยะยาวในการจำกัดภ
REDD+ [กรอบงานด้านเรดด์พลัส] การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า และการทำให้ป่าเสื่อมโทรม รวมถึงเพิ่มบทบาทในการอนุรักษ์ป่า การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าในประเทศกำลังพัฒนา
Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) [คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ] หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) โดย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) และองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization:WMO)